ใกล้จะสิ้นปี 2021 แล้วและถือว่าปีนี้เป็นปีแห่งตลาดสตรีมมิ่งจริง ๆ เนื่องจากภาวะโควิดระบาดทำให้คนอยู่กับบ้านมากขึ้นและบริการสตรีมมิ่งกลายเป็นปัจจัยที่ 6 สำหรับหลาย ๆ คนไปแล้ว
จริง ๆ แล้วอันดับที่จัดโดยเว็บมะเขือเน่าหรือ Rottentomatoes นั้นมีจำนวนมากถึง 214 รายการเลยทีเดียว (ดูเพิ่มเติมได้ ที่นี่) แต่เพื่อให้กระชับเราขอเลือกมาเฉพาะ 10 อันดับแรกมาครับ
อันดับที่ 10 – มหาศึกโลหิตเทพ (Blood of Zeus) (2020)
ผลงานอนิเมชั่นชิ้นถัดมาจาก Castlevania โดยค่าย Powerhouse Animation Studios เจ้าเดิม เป็นการนำเนื้อหาเทพเจ้ากรีกมาเรียบเรียงใหม่ เน้นฉากรบที่มีความดิบเถื่อน (ถึงได้เรท 18+) ทำออกมาแล้วหนึ่งซีซั่นและจนถึงตอนจบก็ยังคาดเดาเนื้อเรื่องไม่ได้ว่าปลายทางจะเป็นแบบไหน ถือว่าเนื้อเรื่องมีความน่าสนใจ ส่วนงานภาพและเสียงว่ากันตามตรงคือฉากอนิเมชั่นบางฉากทำออกมายังห่วยออกแนวลวก ๆ นึกว่างานพวกการ์ตูนระดับ 20 30 ปีที่แล้ว บางช็อตก็เผางานมากเน้นเร็ว ๆ ง่าย ๆ (ถ้าใครเคยอ่านการ์ตูนคนเก่งฟ้าประทาน Yu Yu Hakusho ตอนสุดท้ายในฉบับหนังสือการ์ตูนจะเข้าใจอารมณ์นี้ดีครับ) แต่โดยรวมก็ยังเป็นอนิเมชั่นที่มีความน่าติดตามอยู่มาก
อันดับที่ 9 – Dirty Money (2018)
เป็นสารคดีที่ไม่เหมือนสารคดีเพราะการลำดับเรื่องที่ดี ในใจส่วนตัวให้อันดับที่สูงกว่า 9 แต่อาจเป็นเพราะเนื้อหาออกผู้ใหญ่และเฉพาะกลุ่มจึงทำให้คะแนนโหวตไม่สูงเท่าอันดับที่สูงกว่า
สำหรับคนที่สนใจการเงินแล้วสารคดีนี้คือสุดยอดเพราะเนื้อหาเล่าถึงด้านมืดของโลกทุนนิยมโดยอิงจากกรณีที่เกิดขึ้นจริงในหน้าข่าว เช่นกรณีอื้อฉาวของการโกงการตรวจสอบการปล่อยมลพิษของรถยนต์ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน (Volkswagen) ที่นำเสนอในตอนแรกสุดของซีรีย์ เป็นต้น ที่มันสนุกมากเพราะที่มาที่มาจากเรื่องจริง ข้อมูลจริง ๆ และบางเรื่องเป็นสิ่งที่เราคิดว่าไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในบางอุตสาหกรรม เช่น เคสของบริษัท Valeant กับอุตสาหกรรมยารักษาโรคที่ทางบริษัทยาดังกล่าวได้การควบรวมกิจการ ซื้อยาจำเป็นที่มีผู้ผลิตน้อยแล้วขึ้นราคามหาศาลทำให้ผู้ป่วยที่ต้องใช้ยามีความยากลำบากในการหาเงินเพื่อซื้อยาดังกล่าวแลกกับชีวิต เป็นต้น
อันดับที่ 8 – Arcane: League of Legends (2021)
เป็นหนึ่งในงานอนิเมชั่นที่งานภาพและเสียงดีมากเกินความคาดหมายรวมถึงพล็อตเนื้อหาและการออกแบบตัวละครที่ยอดเยียม
League of Legends หรือ LOL เป็นชื่อของเกมส์ออนไลน์ที่ถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 2009 โดยผู้พัฒนา Riot Games และประสบความสำเร็จอย่างสูงในด้านยอดผู้เล่นทั่วโลกชนิดที่ว่าเกมส์เดียวแบกทั้งบริษัทไม่ต้องออกเกมส์ใหม่อีกเลยนานนับสิบปี
จนเมื่อครบรอบ 10 ปีเมื่อปี 2020 ของการก่อตั้งบริษัทพวกเขาจึงได้ประกาศสร้างอนิเมชั่นซีรีย์เรื่องแรกของเกมส์นี้ในชื่อภาค Arcane ซึ่งเนื้อหามีเป้าหมายคือพาผู้ชมเข้าไปสัมผัสจักรวาลใน LOL พร้อมเรื่องราวของตัวละครที่ครองใจผู้เล่นมาอย่างยาวนาน
สำหรับใครที่ยังไม่รู้จักเกมส์นี้แต่ชอบดูอนิเมชั่นห้ามพลาด และสำหรับคนที่เป็นแฟนเกมส์นี้ด้วยยิ่งไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงครับ
อันดับที่ 7 – Immigration Nation (2020)
เป็นอีกหนึ่งซีรีย์แนวสารคดีที่สร้างมาจากเรื่องจริงของหน่วยตรวจคนเข้าเมืองและการบังคับใช้กฏหมายศุลกากรของสหรัฐอเมริกา (Immigration and Customs Enforcement หรือชื่อย่อว่า ICE) ในด้านมืด ทั้งการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพและหย่อนยานรวมถึงการพิจารณาดำเนินคดีที่มีข้อกังขาและมีผลลัพธ์แย่ ๆ ตามมาสำหรับหลายครอบครัว เป็นหนึ่งในการดำเนินนโยบายกวาดล้างผู้อพยพของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
เนื่องจากซีรีย์นี้มีเนื้อหาที่ล่อแหลมประกอบกับตอนกำลังจะเปิดตัวเป็นช่วงใกล้เลือกตั้งพอดีทำให้ถูกกดดันเพื่อตัดเนื้อเรื่องบางส่วนออกรวมถึงชะลอการออกอากาศให้เป็นช่วงหลังเลือกตั้งที่ผ่านมา
อันดับที่ 6 – Giri/Haji (2019)
ชื่อซีรีย์ Giri / Haji มาจากคำในภาษาญี่ปุ่น 義理/恥 ซึ่งมีความหมายในภาษาอังกฤษคือ Duty / Shame (หน้าที่ / ความละอาย) เป็นซีรีย์ญี่ปุ่นโดยทีมงานฝรั่งที่เริ่มต้นฉายรอบปฐมทัศน์ที่สหราชอาณาจักร (UK) ผ่านช่อง BBC Two เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2019 ก่อนจะถูก Netflix ซื้อลิขสิทธิ์มาฉายในประเทศอื่น ๆ เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2020 ที่ผ่านมา ซึ่งทีมงานนี้ได้เคยสร้างผลงานมาก่อนหน้านี้แล้วกับซีรีย์เชอร์โนบิล (Chernobyl) ที่เคยออกอากาศผ่าน Netflix มาแล้วเช่นกันในปี 2019
เรืองราวเกี่ยวกับการสืบสวนโดยตำรวจสายสืบเคนโซที่ต้องหาความจริงว่าทำไมยูโตะน้องชายตัวเองซึ่งเป็นอดีตยากูซ่าและมีข่าวว่าตายไปนานแล้วกว่าหนึ่งปีนั้นจึงมีเหตุการณ์เพิ่มเติมภายหลังว่า นอกจากยูโตะจะยังไม่ตายแล้วนั้นตัวเค้ายังมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีฆาตกรรรมหลานยากูซ่าอีกตระกูลหนึ่งในอีกประเทศข้ามโลกได้
นอกจากจะโดนบีบในแง่ของเงื่อนเวลาที่ถ้าหากนำตัวยูโตะกลับไปพิสูจน์ความจริงไม่ทันก็จะเกิดสงครามระหว่างแก๊งยากูซ่าใหญ่ในโตเกียวแล้ว ก็ยังมีเรื่องของการตัดสินใจว่าเคนโซควรทำหน้าที่ตำรวจที่ต้องจับคนร้ายมาดำเนินคดีหรือในฐานะพี่ชายที่ต้องช่วยเหลือน้องชายหากยังมีชีวิตอยู่ ถือเป็นอีกหนึ่งซีรีย์น่าติดตามที่สมกับอันดับที่ได้รับในปีนี้
อันดับที่ 5 – Ugly Delicious (2018)
เป็นอีกหนึ่งสารคดีด้านอาหารหรือ Food Documentary ที่นับว่าปังมากตั้งแต่เปิดตัวมาเนื่องจากมีแม่เหล็กดึงดูดเพียบ นับตั้งแต่เดวิด ชาง (David Chang) เชฟซุปเปอร์สตาร์ระดับมิชลิน 3 ดาวเจ้าของร้านอาหาร Momofuku ซึ่งเป็นเชนอาหารใหญ่ในอเมริกามาเป็นผู้ดำเนินรายการ รวมถึงการได้โปรดิวเซอร์อย่างมอร์แกน เนวิลล์ (Morgan Neville) ซึ่งเคยได้รางวัลออสการ์จากผลงาน Twenty Feet from Stardom มาเป็นผู้ผลิตรายการให้อีกด้วย
“สิ่งที่ดูไม่สมบูรณ์แบบจากภายนอกไม่ได้แปลว่าภายในมันไม่สมบูรณ์แบบตามไปด้วย” เป็นที่มาของคอนเซ็ปต์ชื่อ Ugly Delicious ซึ่งหมายความว่าอาหารดี ๆ นั้นไม่จำเป็นต้องดูดีเสมอไป สารคดีชุดนี้นอกจากจะบอกกับผู้ชมในเรื่องที่มาของอาหารต่าง ๆ ว่ามาจากไหนหรือทำอย่างไรแล้วยังสอดแทรกประเด็นทางสังคมและประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในอาหารเหล่านั้น ซึ่งหลายเรื่องเราไม่เคยรู้มาก่อน และหลายครั้งเนื้อหาก็ทำให้เราตั้งคำถามเกี่ยวกับความเป็นต้นตำหรับหรือออริจินอลของอาหารบางอย่างอีกด้วย
สิ่งที่เดวิดทำคือการเดินทางไปยังร้านอาหารชื่อดังที่ว่ากันว่าเป็นถิ่นกำเนิดของอาหารเพื่อค้นหาความเป็น “ต้นตำหรับ” พร้อมกับแลกเปลี่ยนบทสนทนากับนักวิจารณ์ คนทำอาหาร ผู้เชี่ยวชาญรวมถึงดาราชื่อดังเพื่อถกกันหาความหมายและนิยามของความต้นตำหรับในอาหารแต่ละจาน
อันดับที่ 4 – Dash & Lily (2020)
เป็นซีรีย์แนวโรแมนติกตลกที่เหมาะกับเทศกาลคริสต์มาสที่กำลังจะถึงนี้มาก เรื่องราวของหนุ่มหล่อแดชผู้ที่เกลียดเทศกาลคริสต์มาสเข้าไส้เพราะมีแต่ความทรงจำแย่ ๆ ทุกครั้งที่เทศกาลนี้มาถึงและลิลี่สาวที่มีโลกส่วนตัวสูง ซึ่งความเป็นตัวเองของเธอนั้นทำให้ตัวเธอแปลกแยกและไม่เป็นที่ต้องการของสังคมรอบตัว
แต่ทั้งสองคนมีจุดร่วมที่เหมือนกันคือเป็นคนที่รักการอ่าน และคนทั้งสองที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและไม่น่าจะมีโอกาสได้เจอกันเลยก็มีโอกาสผ่านสมุดโน๊ตสีแดงเล่มหนึ่งในร้านหนังสือ การตอบโต้ไปมาและทำตามคำท้าในสมุดเล่มนั้นนำมาสู่ความสัมพันธ์ที่ใช่และเป็นจริงสำหรับเธอ
อันดับที่ 3 – Mystery Science Theater 3000: The Return (2017)
เนื่องจากชื่อยาวจึงมีชื่อย่อสั้น ๆ ว่า MST3K ซึ่งแม้รายการนี้จะเปิดตัวตั้งแต่ปี 2017 แต่ยังอยู่ได้ถึงอันดับ 3 ในปี 2021 นับว่าไม่ธรรมดาเลยทีเดียว – ซีรีย์เรื่องนี้เป็นแนวขำขันของอเมริกันซึ่งต้นฉบับดั้งเดิมออกอากาศในปี 1988 ก่อนจะยกเลิกไปในปี 1996 และมีการระดมทุนเพื่อสร้างใหม่ทั้งหมดอีกรอบก่อนออกฉายผ่าน Netflix ในปี 2017 โดยผู้เขียนบท Joel Hodgson
รายการนี้ว่ากันตรง ๆ ไม่เกิดในประเทศไทยเพราะเนื้อหาที่นอกจากจะต้นแบบจากยุคสมัยที่ห่างกันมากแล้ว มุขตลกทั้งหลายก็ไม่เก็ตสำหรับคนไทยส่วนมากเช่นกัน แต่สำหรับใครที่ชื่นชอบการเดินเรื่องล้อเลียนแบบอเมริกันยุคเก่า ๆ แล้วน่าจะเข้าใจไม่ยากและชอบได้ง่าย ๆ เลยทีเดียว
อันดับที่ 2 – Feel Good (2020)
เป็นซีรีย์สำหรับชาว LGBTQ โดยเฉพาะ เดินเรื่องผ่านความสัมพันธ์ระหว่างหญิง – หญิงคู่หนึ่งตั้งแต่เริ่มพบกันไม่ได้คิดอะไรจนสานสัมพันธ์กลายเป็นคู่รักกัน โดยเคเป็นชาวแคนาดาที่อยู่ในอังกฤษและเคยมีประวัติขายและเสพโคเคนจนมีปัญหากับทางบ้านและโดนไล่ออกมา ต้องดำรงชีพด้วยการเป็นนักเดี่ยวไมโครโฟนที่บาร์แห่งหนึ่ง และบาร์แห่งนี้เองทำให้เมได้พบจอร์จ หญิงสาวคนเดียวที่ขำกับมุกของเธอ
ซึ่งนอกจากจะต้องสู้กับจิตใจตัวเองต่อการมองเข้ามาของบุคคลภายนอกในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างเพศเดียวกันแล้ว ทั้งสองคนยังมีอุปสรรคทางใจที่ต้องฝ่าฟันอีกหลายด่าน ทั้งเมที่พยายามปกปิดในเรื่องที่อดีตตัวเองเป็นนักค้ายา ทั้งจอร์จที่ไม่กล้าบอกสังคมรอบตัวตรง ๆ ว่าแฟนตัวเองนั้นเป็นผู้หญิงเหมือนกัน
อันดับที่ 1 – The Baby-Sitters Club (2020)
เป็นซีรีย์ที่เมื่อดูแล้วจะทำให้คุณคิดถึงชีวิตตอนเป็นวัยรุ่น ซีรีย์เรื่องนี้มีที่มาจากหนังสือชื่อเดียวกันโดย Ann M. Martin
เรื่องราวเกี่ยวกับผองเพื่อนหญิงซึ่งปิ๊งไอเดียเปิดธุรกิจเป็นพี่เลี้ยงเด็ก เหตุการณ์ต่าง ๆ ทำให้พวกเค้าต้องเผชิญอุปสรรคร่วมกัน เรียนรู้ซึ่งกันและกันและผูกพันธ์กันผ่านปัญหาที่เข้ามา
แชร์ได้เลยเพียงกดเบา ๆ